วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

“ใส่บาตร” กับ “ตักบาตร” ควรเลือกใช้คำใด

เก็บความสงสัยมานานว่า “ใส่บาตร” กับ “ตักบาตร” ควรจะเลือกใช้คำใด เพื่อคลายสงสัยจะช้าอยู่ไยลองหยิบพจนานุกรมมาค้นคำหาความหมายดูสักหน่อยว่าจะเป็นประการใด

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ พิมพ์ครั้งที่ ๒ ให้นิยามไว้ ดังนี้

“ใส่” เป็นคำกริยา มีความหมายว่า สวม เช่น ใส่เสื้อ ใส่กางเกง, เอาไว้ข้างในภาชนะหรือสถานที่เป็นต้น เช่น กรอกน้ำใส่ขวด นำนักโทษไปใส่คุก, บรรทุก เช่น เอาสินค้าใส่รถ.
“ตัก” เป็นคำกริยา มีความหมายว่า เอาภาชนะช้อนสิ่งของขึ้นจากที่เดิม เช่น ตักน้ำ ตักแกง ตักดิน. “ตักบาตร” หมายถึง เอาของใส่บาตรพระ. (เทียบเขมร ฎาก่ ว่า วางลง)
ดังนั้น หากอ้างอิงจากพจนานุกรมแล้วจึงควรต้องใช้คำว่า “ตักบาตร” เพราะคำว่า “ใส่บาตร” ไม่มีปรากฏในพจนานุกรมแต่อย่างใด

และเป็นเรื่องน่าสนใจ เมื่อสืบความต่อไปก็พบอีกว่า ใส่กับตัก นั้น มีปรากฏอยู่ใน “รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔” จึงคลายสงสัยขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งในประกาศฯ กล่าวไว้ว่า 
“ใส่” นั้น ใช้กับของไม่มีตัว เช่น ใส่ความ เอาใจใส่ ใส่ของมีตัวไม่ได้หมด อย่างใส่บาตร ต้องว่าตักบาตร หรือเจ้านายก็ว่าทรงบาตร ส่วนใส่เสื้อใส่กางเกงที่เราใช้ ๆ กันอยู่ หากว่าตามประกาศฉบับนี้ก็ต้องว่าใช้กันมิชอบนัก ต้องว่าห่มเสื้อ นุ่งกางเกง จึงจะชอบ แต่ตามพจนานุกรมแล้ว ใส่เสื้อ ใส่กางเกง ใช้ได้ไม่ผิดกระไรเนื่องจากมีนิยามปรากฏชัดแจ้งอยู่
ในการนี้ เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาผมได้คัดลอกประกาศดังกล่าวข้างต้นเพื่อประกอบการพิจารณาศึกษาแก่ผู้สนใจพร้อมนี้ด้วยแล้ว

ประกาศให้ใช้คำว่าใส่ในที่ควร

คำว่าใส่ใช้ในคำกราบทูลได้แต่ของไม่มีตัว คือ ใส่ความใส่โทษ เอาใจใส่ ใส่ใจรักใคร่ ใส่จริต แลอื่น ๆ ใส่ของมีตัวไม่ได้หมด อย่างใส่บาตร ต้องว่าตักบาตร หรือเจ้านาย ก็ว่าทรงบาตร ใส่เสื้อ ใส่กางเกง ก็ว่าห่มเสื้อ นุ่งกางเกง หรือทรงพระสนับเพลา แลฉลองพระองค์ ใส่หมวก ว่าสวมหมวกแลทรงพระมาลา ใส่ดุม ว่าขัดดุม ใส่กำไลใส่เกี้ยว ว่าสวมกำไลสวมเกี้ยว ใส่ปิ่น ว่าปักปิ่น ใส่สร้อย ใส่จี้ ว่าผูกสร้อยผูกจี้ ใส่โซ่ใส่ตรวนใส่ขื่อใส่คา ว่าจำโซ่จำตรวน จำขื่อจำคา ใส่คุก ว่าจำคุกขึ้นคุกส่งคุกขังคุกเข้าคุก ใส่ตะราง ใส่ทิม ว่าขังตะราง ขังทิม ใส่เล้าว่าขังเล้า ใส่กรงว่าขังกรงหรือไว้ในกรง ใส่หม้อใส่ไหใส่ขวด ว่ากรอกหม้อกรอกไหกรอกขวด ใส่เรือว่าบรรทุกเรือ ใส่คลังว่าขึ้นคลังส่งคลังเข้าคลังหรือเก็บไว้ในคลัง ใส่หีบใส่ตู้ใส่ถุง ถ้าพูดถึงของว่าของในหีบ ในตู้ในถุง ถ้าพูดถึงกิริยา ก็ว่า เข้าหีบ เข้าตู้เข้าถุง ใส่ยุ้งใส่ฉาง ว่าขึ้นยุ้งขึ้นฉาง ถ้าเป็นสินค้า ก็ว่าบรรทุกกำปั่น บรรทุกสำเภา ถ้าเป็นของ ก็ว่าเอาไว้ในกำปั่น ในสำเภา ใส่ช้างใส่เกวียนใส่ต่าง ถ้ามากก็ว่า บรรทุกช้าง บรรทุกเกวียน บรรทุกต่าง ถ้าน้อยก็ว่าขึ้นช้าง ขึ้นเกวียน ขึ้นต่าง ใส่กระบุงตะกร้าตะแกรง ก็ว่าไว้ในกระบุง ตะกร้าตะแกรง ใส่กุญแจใส่กลอนว่าลั่นกุญแจขัดกลอน ตักน้ำใส่ตุ่มใส่ถัง ว่าขังตุ่มขังถังใส่หมุดคำนี้ ถ้าเป็นหมุดแผล ว่าสอดหมุด ถ้าเป็นหมุดตรึงแลขัดสิ่งของใด ๆ ก็ว่าตรึงหมุดขัดหมุด ใส่ยา ก็ว่าทายาหรือให้ยาปิดยาตามสมควร ไม่ว่าใส่บ้วนใส่กระโถน ว่าบ้วนลงกระโถน
(จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ, ๒๓๔๗-๒๔๑๑, รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔, องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๘, หน้า ๕๐๓)

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ตอนต้นประกาศฯ ขึ้นว่า “ใช้ในคำกราบทูล” จึงน่าจะเป็นเรื่องการใช้อย่างทางการในเมืองหลวงเนื่องจากอาการใช้ทัพพีตักของใส่บาตรพระนั้นคงใช้กันอยู่เพียงพระนคร แต่ตามหัวเมืองทางเหนือหรืออีสานมักใช้การปั้นข้าวแล้วหย่อนลงบาตร เป็นอาการเอาข้าวไว้ข้างในภาชนะมิใช่การเอาภาชนะช้อนสิ่งของขึ้นจากที่เดิม ก็เป็นเรื่องน่าคิดต่อไปว่ากรณีนี้ควรใช้ใส่บาตรหรือตักบาตร


GPJ memos

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น